ในปัจจุบันหลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าเวลาเดินเร็วขึ้น ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ออกมารับรองว่าความรู้สึกเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเองซะทีเดียว
เพราะเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมาเวลาเดินเร็วกว่าที่คาดไว้ 1.59 มิลลิวินาที (1000 มิลลิวินาที = 1 วินาที) ส่งผลให้วันดังกล่าวมีช่วงสั้นที่สุดในรอบกว่า 50 ปี นับทั้งแต่ที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มใช้นาฬิกาอะตอมที่มีความแม่นยำสูงวัดความเร็วการหมุนของโลกเมื่อทศวรรษที่ 1960s
นอกจากนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเวลาเหมือนจะสั้นลงเรื่อยๆ เพราะในปี 2020 โลกของเราพบกับ 28 วันที่สั้นที่สุดในรอบ 50 ปี อีกทั้งในเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมของปีนี้ โลกหมุนเร็วกว่าที่คาดไว้ 1.5 มิลลิวินาทีซึ่งเป็นตัวเลขที่เกือบจะทำลายสถิติของเดือนมิถุนายน และเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาห่างกันราว 1 เดือนเท่านั้น
ทั้งนี้แม้ว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นในระยะหลัง แต่หากถอยไปมองในช่วงเวลาที่กว้างขึ้นแล้ว ปัจจุบันถือว่าโลกหมุนเร็วกว่าในอดีตมาก เพราะเมื่อ 1.4 พันล้านปีที่แล้ว 1 วันบนมีเวลาเพียง 19 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุที่ทำให้โลกหมุนเร็วขึ้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีการคาดการณ์กันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แผ่นดินไหวหรือการสั่นสะเทือนใต้พิภพ การเคลื่อนไหวของของเหลวในแกนโลก ฯลฯ
แล้วการที่โลกหมุนเร็วขึ้นแม้จะหลัก 1 ใน 1000 วินาทีส่งผลอะไรต่อวงการเทคโนโลยีบ้าง ?
ตั้งแต่ปี 1972 โลกของเราได้ปรับใช้วิธีการปรับเวลามาตรฐาน (UTC) ให้สอดคล้องกับเวลาที่ควรจะเป็น ซึ่งกระทำโดยหน่วยงานสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในสังกัดองค์การสหประชาชาติ การใช้เวลาที่วัดจากนาฬิกาอะตอมที่มีความละเอียดสูง (TAI) อาจไม่สอดคล้องกับเวลาที่สังเกตจากกาสังเกตดวงอาทิตย์ (UT1) จึงมีการใช้วิธีที่เรียกว่าอธิกวินาที* (อธิกวินาที คือ วินาทีที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพื่อรักษามาตรฐานการประกาศเวลาให้ใกล้เคียงกับเวลาสุริยะ) หรือการข้ามวินาที (leap second) โดยการเพิ่มเวลา 1 วินาทีเข้าไปในเวลามาตรฐาน (UTC)
ซึ่งวิธีการข้ามวินาทีนั้นคล้ายกับสิ่งที่เราคุ้นเคยกันในปฏิทินอย่างปีอธิกสุรทิน หรือปีที่มี 366 วันที่เพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์เข้ามาเพื่อชดเชยการที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลาไม่ครบ 365 วันเป๊ะๆ แต่มีเศษอยู่เล็กน้อยจึงต้องเพิ่มวันในปฏิทินมา 1 วันในทุกๆ 4 ปีเพื่อชดเชยกับเศษที่ขาดหายไป
ทั้งนี้การใช้วิธีการข้ามวินาทีนั้นส่งผลเสียต่อวงการเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยเวลามาตรฐานในการดำเนินการเป็นอย่างมาก เพราะ การข้ามเวลาอาจส่งผลต่อการทำงานของเซิร์ฟเวอร์หรือระบบคลาวด์ที่ทำงานแม่นยำในระดับเสี้ยววินาที
ดังเช่น การข้ามวินาทีในปี 2012 นั้นทำให้เซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ Reddit ล่มไปเป็นเวลา 40 นาที หรือการข้ามวินาทีในปี 2017 ก็ส่งผลกระทบต่อ DNS เซิร์ฟเวอร์ของ Cloudflare ด้วยเช่นกัน
บริษัทเทคเสนอวิธีอื่นในการปรับเวลาที่ดีกว่านี้
เนื่องจากการข้ามวินาทีนั้นส่งผลเสียต่อการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลก บริษัทเทคอย่าง Meta ได้เสนอให้ใช้วิธีอื่นในการปรับเวลาแทน เพราะตั้งแต่ปี 1972 มีการข้ามวินาทีไปแล้วไม่ต่ำกว่า 27 ครั้ง Meta เสนอให้เปลี่ยนจากการเพิ่มเวลาไปดื้อๆ ไปเป็นการปรับความเร็วการเดินของนาฬิกาชั่วคราวแทน (smear) โดยปรับใช้นาฬิกาเดินเร็วขึ้นเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันเพื่อ เพื่อชดเชยเวลาที่ผิดเพี้ยนไปและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อเซิร์ฟเวอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลก
ข้ามวินาทีบ่อยๆอาจต้องย้อนกลับเพื่อให้สอดคล้องกับการหมุนของโลก
เมื่อรูปแบบการหมุนของโลกเปลี่ยนไปเช่นนี้ ในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีการข้ามวินาทีย้อนกลับ (negative leap) ณ ช่วงเวลาหนึ่งในอนาคต โดยการตัดเวลาในนาฬิกามาตรฐานทิ้งไป 1 วินาที เพื่อให้สอดคล้องกับการหมุนของโลกนั่นเอง แต่การข้ามวินาทีย้อนกลับเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากไม่ศึกษาและเตรียมพร้อมให้ดีก็อาจเกิดปัญหาต่อซอฟต์แวร์จำพวกตารางเวลา (scheduler) และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับเวลาได้
ที่มา:
https://www.engadget.com/earth-rotation-speed-negative-leap-second-183324723.html
https://www.engadget.com/meta-death-of-the-leap-second-103545749.html
https://phys.org/news/2022-08-earth-faster-usual-experts-shortest.html
https://www.theguardian.com/science/2022/aug/01/midnight-sooner-earth-spins-faster-shortest-day
https://www.zcooby.com/