หลังจากที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา และตามพรบ.สินทรัพย์ดิจิทัล ในวันนี้แอดมินจึงได้รวบรวมข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของ สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Morning Wealth ทางยูทูปช่อง The Standard Wealth และข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ มาสรุปประเด็นที่น่าสนใจในการเสียภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลให้ได้อ่านกัน

การเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล

สำหรับการซื้อ-ขายหรือการเทรดเก็งกำไรทรัพย์สินดิจิทัล ตัวแทนจากกรมสรรพากรระบุว่า การเสียภาษีคิดจากการซื้อขายในรายครั้ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการแลกเป็นเงินสดเข้าบัญชีธนาคารแต่การขายแล้วได้กำไรเป็นเงินในพอร์ตหรือ exchange ก็ต้องนำมาคำนวณภาษีด้วย

นอกจากนั้นการยื่นภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลอาจไม่จำเป็นต้องทำทุกครั้งที่เกิดการซื้อขาย สามารถรวบรวมยื่นเดือนละหนึ่งครั้งได้ โดยการขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วได้กำไรผู้ขายสินทรัพย์ดังกล่าวต้องยื่นเสียภาษีในเงินได้ส่วนที่เป็นกำไรนั้น ในขณะที่หากว่าการขายเกิดขาดทุนก็ไม่สามารถนำไปหักลบกับกำไรที่ได้ในการขายครั้งอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น

นาย A ซื้อ เหรียญ B มาในมูลค่า 1 แสนบาท และขายเหรียญดังกล่าวทั้งหมดได้มูลค่า 1.5 แสนบาท นาย A ต้องเสียภาษีในส่วนของเงินได้ที่เป็นกำไรจำนวน 5 หมื่นบาท แต่ต่อมาหากนาย A นำเงิน 1 แสนบาทไปซื้อเหรียญ C แล้วขายเหรียญทั้งหมดในมูลค่า 8 หมื่นบาท นาย A ไม่สามารถนำการขาดทุน 2 หมื่นบาทในครั้งนี้ไปหักลบกับกำไร 5 หมื่นบาทครั้งที่แล้วในการคำนวนภาษีได้

อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวสามารถบังคับใช้จริงได้แค่ exchange ที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยเท่านั้น สำหรับผู้ที่เทรดสินทรัพย์ดิจิทัลใน exchange ของต่างประเทศจึงเสียภาษีแค่ตอนนำเงินเข้าบัญชีธนาคารหรือ exchange ในไทยในปีเดียวกับที่เกิดกำไรขึ้นเท่านั้น (เพราะหากพำนักอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันและนำเงินที่ได้จากกำไรเข้าไทยในปีถัดไปจะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้)

นอกจากนั้นในความเป็นจริงแล้วการตรวจสอบกำไร-ขาดทุนในการซื้อขายนั้นเป็นไปได้ยากมาก ทั้งจากความยากในการจดบันทึกของผู้เทรดสินทรัพย์ดิจิทัลเอง จำนวนไม้ (ครั้ง) ที่เข้าซื้อเหรียญเดียวกันด้วยต้นทุนที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา และการที่ Exchange ยังไม่มีระบบตรวจสอบผลกำไรจากการเทรดของผู้ใช้งานที่เป็นกิจลักษณะ แต่ทางสรรพากรระบุว่าในอนาคตสามารถตรวจสอบได้โดยใช้ “Big Data” และ “Data Analytic” ในการตรวจสอบได้ ต้องรอดูว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

ในกรณีนี้ตัวแทนจากสรรพากรระบุว่า หากว่าผู้ขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้กำไร ผู้ซื้อจำเป็นต้องเสียภาษี 15% ของมูลค่ากำไรดังกล่าว โดยที่ผู้ขายจำเป็นต้องแจ้งกำไรให้ผู้ซื้อได้ทราบ แต่ในความเป็นจริงการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในทางปฏิบัติมีความซับซ้อนมาก เพราะ การซื้อ-ขายใน Exchange อาจไม่ได้มีผู้ซื้อสินทรัพย์ที่เราตั้งขายไว้เพียงคนเดียว รวมทั้งการติดต่อระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย ภายในระบบการซื้อขายใน Exchange แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย จึงต้องรอดูว่าในอนาคตแนวโน้มในส่วนนี้จะเป็นอย่างไร

การล็อคหรือ stake เหรียญ

ตัวแทนจากสรรพากรระบุว่า กำไรที่ได้จากการล็อคหรือฝากเหรียญแล้วได้ดอกเบี้ยนั้นตามกฎหมายถือเป็นรายได้ที่คล้ายกับลักษณะเงินปันผลหุ้นจึงจำเป็นต้องนำมาเสียภาษีด้วย นอกจากนั้นข้อกำหนดดังกล่าวยังไม่มีข้อยกเว้นภาษีในกรณีที่เหรียญที่เราไปฝากไว้เกิดราคาลดลงจนทำให้ขาดทุนชั่วคราวหรือ impernament loss นั้น ผลตอบแทนจากการฝากเหรียญก็จำเป็นต้องนำมาคำนวณภาษีด้วยแม้ว่าหากคิดเสร็จสรรพแล้วจะขาดทุนก็ตาม

การซื้อของด้วยคริปโต

ตามกฎหมายภาษีคำว่า “เงินได้” ไม่จำกัดอยู่แค่ในรูปของเงินสดเท่านั้น แต่รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับด้วย ทำให้การนำคริปโตที่ได้กำไรแบบยังไม่คิดเป็นตัวเงินจริง (unrealized) ที่ยังไม่มีการขายคริปโตเป็นเงินสด นำเหรียญส่วนนี้ไปใช้จ่ายซื้อของอย่างอื่น ผู้ซื้อจำเป็นต้องนำผลประโยชน์ที่ได้จากการทำคริปโตที่ได้กำไรที่ใช้แลกของไปคำนวณภาษีด้วย ตัวอย่างเช่น

นาย A ซื้อเหรียญ B ด้วยมูลค่ารวม 5 แสนบาท และต่อมาเหรียญ B จำนวนดังกล่าวมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบาท แต่นาย A ตัดสินใจนำเหรียญ B ไปแลกกับรถยนต์มูลค่า 1 ล้านบาท โดยที่ไม่ผ่านการแลกเป็นเงินสดเลย ก็สามารถตีความผลประโยชน์ที่ได้รับจากการนำเหรียญ B ไปแลกเป็นรถยนต์มาคำนวณการเสียภาษีด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติต้องรอดูต่อไปว่าในอนาคตสรรพากรจะมีแนวทางเกี่ยวกับกรณีนี้อย่างไร

การขุดเหรียญคริปโต

การขุดเหรียญคริปโตและนำเหรียญคริปโตที่ขุดได้มาขายนั้น จำเป็นต้องเสียภาษี 15% จากกำไรในการขาย และสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเพราะเป็นรายได้ตามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) ส่วนค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการขุดเหรียญ จากการซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการขุดที่มีอายุการใช้งานเกิน 1 ปีไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ แต่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การลงทุนเช่น ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงหากสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการขุด

รายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษี

ตามข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเสียภาษีระบุว่า ผู้ที่มีรายได้ขั้นต่ำไม่ถึง 150,000 บาทไม่จำเป็นต้องเสียภาษี แต่ในความเป็นจริงบุคคลได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท ทำให้ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่มีรายได้ทุกประเภทรวมกันไม่เกิน 210,000 บาทไม่จำเป็นต้องเสียภาษีในกรณีที่เป็นโสด และหากสมรสแล้วคู่สมรสไม่มีรายได้ก็บวกเข้าไปอีก 60,000 บาท (ในส่วนเป็นคนละส่วนกับการคำนวณภาษี 15% จากกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่กล่าวไปข้างต้น) นอกจากนั้นตัวแทนจากสรรพากรระบุว่าผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีการยกเว้นภาษีเพิ่มอีก 190,000 บาท จึงไม่ต้องเสียภาษีหากมีรายได้ไม่ถึง 360,000 บาท

iTAX, The Standard Wealth (Youtube), The Standard Wealth